ความแตกต่างระหว่างแบบเรียนหลวง กับ ดรุณศึกษา ของ ดรุณศึกษา

แบบเรียนหลวง

ภายหลังการปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดหน่วยงานราชการขึ้นมาบริหารงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ราชการต้องการบุคลากรเข้ามาทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ การปฏิรูปการศึกษาในสมัยนั้นจึงออกแบบแบบเรียนหลวง เช่น มูลบทบรรพกิจ และแบบเรียนเร็ว ให้ผลิตคนออกมารับราชการภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะในแบบเรียนเร็วที่มีการสร้างค่านิยมให้ผู้เรียนมีความนิยมเป็นเสมียน[7] ซึ่งเป็นตำแหน่งอันเป็นที่ต้องการตัวเป็นอย่างมาก แบบเรียนหลวงจึงเน้นการสอนให้ผู้เรียนสำเร็จการศึกษาออกไปรับราชการโดยถือเป็นการทำประโยชน์ให้กับบ้านเมือง มีวัตถุประสงค์เพื่อ[8]

ให้กุลบุตรศึกษาเรียนหนังสือไทย เปนเครื่องเรืองปัญญา ให้ได้ความรู้ ใช้อักษรแลไม้เอกโท ให้ถูก ถวันชำนาญชัดเจนกว้างขวาง เปนคุณแก่ราชการสืบไป

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษา

อัสสัมชัญ ดรุณศึกษานั้นแตกต่างออกไป เนื่องจากสอนให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาออกไป ไม่จำเป็นต้องเข้ารับราชการ หรือเป็นเสมียนก็สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมืองได้[9] โดยเปิดอิสระ ไม่ตัดสินให้นักเรียนเห็นว่าอาชีพใดดี มีเงินทอง หรือสบาย แต่สอนให้ขยันขันแข็งในการงาน และเน้นย้ำสำคัญเป็นอย่างยิ่งในเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต และยุติธรรม นอกจากนี้อัสสัมชัญ ดรุณศึกษายังคงลักษณะคติในสังคมไทยไทยเอาไว้ เช่น การเคารพนับถือ เชื่อฟังคำสั่งสอนผู้ใหญ่[10] เช่นเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ได้ชี้ให้เห็นโทษของการใช้อำนาจของผู้ที่มีอำนาจ[11] รวมทั้งยังตอบรับกับการเกิดรัฐชาติสมัยใหม่ในฐานะพลเมืองด้วยการอธิบายเหตุผลที่จะต้องเสียภาษี พร้อมนำเสนอชักชวนให้เสียภาษีด้วย[12] ในขณะที่คำอธิบายเดิม เรื่องของการที่แบบเรียนมูลบทบรรพกิจ มีบทอัศจรรย์เป็นบทสอนอ่านให้แก่เด็กนักเรียน ก็ยังคงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ฟ.ฮีแลร์แต่งอัสสัมชัญ ดรุณศึกษาขึ้นมาด้วยเช่นกัน